วันจันทร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2556

คุตบะห์วันศุกร์

ข่มโทสะคือคุณลักษณะของมุตตะกีน

 

อ.อาลี  กองเป็ง

 

 

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก

ท่านค่อลีฟะห์อุมัร บิน อับดุลอะซีซ ได้กล่าวแก่ชายผู้หนึ่งที่ทำให้ท่านเกิดโทสะว่า  

 

لَوْ لاَ اَ نَّكَ أَ غْضَبَنِيْ لَعَاقَبْتُكَ               “หากแม้นว่าท่านไม่ทำให้ฉันเกิดโทสะฉันจะลงโทษท่าน”

 

และมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านแลเห็นคนเมา ท่านจึงปรารถนาจะนำตัวมาลงโทษ แต่คนเมาได้ บริพาทท่าน ท่านจึงถอยหลังกลับและชะลอการลงโทษ  จึงมีผู้ถามท่านว่า

 

يَا أَمِيْرَ الْمُؤْمِنِيْنَ لَمَّاشَتَمَكَ تَرَكْتَهُ   

 “โอ้ท่านอะมีรุ้ลมุอฺมินีน ท่านชะลอการลงโทษเขาทั้งๆที่เขาด่าท่าน”

 

 ท่านอุมัรกล่าวตอบว่า

  

لأَنَّهُ أَغْضَبَنِيْ فَلَوْعَزَرْتُهُ لَكَانَ ذَلِكَ لِغَضَبِ نَفْسِيْ وَلاَ أُحِبُّ أَنْ أَضْرِبَ مُسْلِمًا لِحَمِيَّةِ نَفْسِيْ   

“เพราะเหตุว่าเขาทำให้ฉันเกิดโทสะ หากแม้นฉันได้ลงโทษเขา ก็จะแสดงว่าการลงโทษของฉันเพราะความโกรธของฉันเอง   ฉันไม่ปรารถนาที่จะตีมุสลิมคนใดเพื่อรักษาตัวฉันเอง”

 

มีรายงานปรากฏว่า มัยมูน บินมะฮ์รอน ได้ปล่อยทาสหญิงให้เป็นอิสระ เนื่องด้วยทาสหญิงคนหนึ่งได้ทำน้ำแกงหกใส่ท่าน มัยมูน บินมะฮ์รอน จึงเกิดโทสะ และจะลงโทษเธอ ทาสหญิงจึงกล่าวว่า โอ้นายของข้า ท่านจงปฏิบัติตามดำรัสของอัลเลาะห์เถิด อัลเลาะห์ทรงกล่าวว่า   

    

وَالْكَاظِمِيْنَ الْغَيْظِ                  ความว่า  “และบรรดาผู้ข่มโทสะ”

 

 มัยมูนกล่าวว่า ก็เพราะเจ้าบกพร่อง  ทาสหญิงจึงกล่าวต่ออีกว่า ท่านโปรดยึดดำรัสของอัลเลาะห์ที่ว่า   

 

وَالْعَافِيْنَ عَنِ الناَّسِ            ความว่า “และบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์”

    

มัยมูนกล่าวว่า ข้าอภัยให้เจ้าแล้ว ทาสหญิงจึงกล่าวต่ออีกว่า ท่านโปรดได้ยึดดำรัสของอัลเลาะห์ที่ได้ดำรัสต่ออีกได้ไหม

 

وَالله ُيُحِبُّ الْمُحْسِنِيْنَ               ความว่า “และอัลเลาะห์ทรงรักบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลาย”

 

 มัยมูนกล่าวตอบทาสหญิงว่า ข้าจะทำความดีแก่เจ้า โดยให้เจ้าเป็นอิสระ เพื่ออัลเลาะห์ตะอาลา

 

คุณลักษณะของมุสลิมประการหนึ่งที่จำต้องพกพาติดตัวและหัวใจ คือ ความสุขุม ขันติ อดทนและอดกลั้น เพราะแท้จริงมันคือ ลักษณะนิสัยของผู้มุตตะกีน คือ ผู้มีความยำเกรง

 

อัลเลาะห์ (ซ.บ.) ทรงสรรเสริญผู้มีลักษณะนิสัยดังกล่าว ซึ่งพระองค์ได้ดำรัสไว้ว่า

 

                           وَلِمَنْ صَبَرَوَغَفَرَ اِنَّ ذَلِكَ لَمِنْ عَزْمِ اْلاُمُوْرِ  .  الشورى  43                               ความว่า  “และแน่นอนผู้ที่อดทนและให้อภัยแท้จริงมันคือ ส่วนหนึ่งจากการงานที่หนักแน่นมั่นคง”

 

กล่าวคือคนที่มีความอดทนต่อการอธรรมหรือการทำร้ายและให้อภัยเพื่อพระพักตร์ของอัลเลาะห์เพราะการอดทนบ้างให้อภัยบ้างนั้นเป็นกิจที่น่าสรรเสริญซึ่งอัลเลาะห์(ซ.บ.)ทรงบัญญัติใช้ให้กระทำ    ซึ่งการถูกใช้ให้กระทำมิใช่เพียงนบี(ซ.ล.)และอุมมะฮ์ของท่านเท่านั้นแต่เป็นบัญญัติใช้ให้บรรจุไว้ซึ่งความอดทนและให้อภัยแก่ศาสดายุคก่อนๆด้วยเช่นเดียวกัน ดังอัลเลาะห์(ซ.บ.)ทรงเล่าถึงลักษณะนิสัยอันน่ายกย่องว่า

 

فَاصْبِرْكَمَاصَبَرَأُولُواالْعَزْمِ مِنَ الرُّسِلِ  .  الاحقاف  35                                                         

 ความว่า “ดังนั้นเจ้าจงอดทนเฉกเช่นบรรดาผู้มีจิตที่มั่นคงแห่งบรรดาร่อซู้ลที่ได้อดทนมาก่อนแล้ว”  

 

ซึ่งนัยยะ ของอายะห์นี้ได้อธิบายถึงความอดทนของท่านนบี(ซ.ล.) ซึ่งอัลเลาะห์ทรงใช้ขณะที่ชาวกุฟฟารกล่าวหาว่าท่านนบีโกหก และทำร้ายทารุณต่อท่าน ทั้งๆที่ท่านปรารถนาดีต่อพวกเขาประดุจดังบรรดานบีก่อนๆ ที่อดทนต่อสู้และยืนหยัด ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.) เป็นแบบฉบับอันชัดเจนแห่งผู้ที่อัลเลาะห์ทรงกล่าวว่า

 

وَالْكَاظِمِيْنَ الْغَيْظِ وَالْعَافِيْنَ عَنِ النَّاسِ وَالله ُيُحِبُّ الْمُحْسِنِيْنَ . آل عمران 134                                                                                                                           

 ความว่า “และบรรดาผู้ข่มโทสะและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์ และอัลเลาห์ทรงรักบรรดาผู้กระทำความดีทั้งหลาย” 

                                                                                                             

 ในเหตุการณ์สมรภูมิอุฮุด ท่านถูกทำร้ายและบาดเจ็บเหล่าศ่อฮาบะห์ได้กล่าวแก่ท่านว่า     

 

     يَارَسُوْلَ اللهِ لَوْدَعَوْتَ الله َتَعَالَى عَلَى هَؤُلاَءِ الَّذِيْنَ صَنَعُوْابِكَ مَاتَرَى . فَقَالَ : اِنِّيْ لَمْ أُبْعَثْ لَعَّانًا وَلَكِنِّيْ بُعِثْتُ دَاعِيًا وَرَحْمَةً . اَللَّهُمَّ اهْدِ قَوْمِيْ فَاِنَّهُمْ لاَيَعْلَمُوْنَ  .

 رواه البزار                                                                                                                                                

“โอ้ท่านร่อซูลุ้ลเลาะห์ ท่านเห็นเป็นอย่างไร หากแม้นท่านขอดุอาต่ออัลเลาะห์ให้ลงโทษแก่พวกเขาที่กระทำต่อท่าน   ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.)กล่าวว่า แท้จริง ฉันมิได้ถูกแต่งตั้งมาเพื่อสาปแช่งใคร แต่ฉันถูกแต่งตั้งมาเพื่อเชิญชวนเรียกร้องและแสดงออกซึ่งความเมตตา โอ้อัลเลาะห์โปรดชี้ทางที่ถูกต้องแก่พวกข้าพเจ้าด้วย เพราะอันที่จริงพวกเขาไม่ทราบความจริง”

 

มีชายคนหนึ่งได้บริพาทท่านค่อลีฟะห์อบูบักร ขณะที่ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.)นั่งร่วมอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ท่านร่อซู้ลและอบูบักรก็มิได้โต้ตอบ ครั้นเมื่อผู้บริพาทหยุดด่า  ท่านอบูบักรจึงพูดและโต้ตอบ ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.)จึงยืนขึ้น ท่านอบูบักรก็เดินตาม และกล่าวถามท่านร่อซู้ลว่า โอ้ท่านร่อซู้ล(ซ.ล.) เขาได้ด่าข้าพเจ้าแล้วก็หยุด เมื่อข้าพเจ้าพูดโต้ตอบท่านกลับยืน ท่านร่อซู้ลจึงกล่าวแก่อบูบักรว่า

 

اِنَّ الْمَلَكَ كاَنَ يَرُدُّ عَلَيْكَ عَنْكَ حِيْنَ سَكَتَ فَلَمَّاتَكَلَّمْتَ ذَهَبَ الْمَلَكُ وَقَعَدَ الشَّيْطَانُ فَكَرِهْتُ أَنْ أَقْعُدَ فِيْ مَقْعَدٍ يَحْضُرُهُ الشَّيْطَانُ . ثُمَّ قَالَ : ثَلاَثٌ كُلُّهُنَّ حَقٌّ عَلَى اللهِ . مَامِنْ عَبْدٍ يُظْلَمُ بِمَظْلَمَةٍ فَيَعْفُوْعَنْهَا اِبْتِغَاءَ مَرْضَاتِ اللهِ تَعَالَى اِلاَّزَادَهُ الله ُبِهَاعِزًّا .  وَمَامِنْ عَبْدٍ فَتَحَ عَلَى نَفْسِهِ بَابَ مَسْأَلَةٍ يُرِيْدُ بِهَاكَثْرَةً اِلاَّزَادَهُ الله ُبِهَاقِلَّةً . وَمَامِنْ عَبْدٍ أَعْطَى عَطِيَّةً يَبْتَغِيْ بِهَا وَجْهَ اللهِ تَعَالَى اِلاَّزَادَهُ الله ُبِهَاكَثْرَةً .

 رواه أبوداود عن عبد الله بن عجلان عن سعيد المقبري عن أبي هريرة                                     

 

 แท้จริง มะลาอิกะฮ์ได้โต้ตอบเหนือเขาแทนท่านแล้วขณะท่านหยุดนิ่ง เมื่อท่านตอบ มะลาอิกะฮ์ได้จากไป และชัยฏอนมานั่งแทนที่ ดังนั้น ฉันไม่ปรารถนาที่จะนั่งร่วมกับที่นั่งของชัยฏอน ต่อมาท่านร่อวซู้ล(ซ.ล.) ได้กล่าวต่ออีกว่า สามประการซึ่งอัลเลาะฮ์ทรงมีสิทธิ์มอบแก่เขา ไม่มีบ่าวคนใดซึ่งได้ถูกอธรรมด้วยการอธรรมหนึ่ง ต่อมาเขาก็ให้อภัยจากอธรรมนั้นเพราะหวังในความพอพระทัยของอัลเลาะห์ เว้นแต่ อัลเลาะฮ์ทรงเพิ่มเกียรติอันสูงแก่เขา   และไม่มีบ่าวคนใดเปิดประตูขอทานเพื่อตัวเองเจตนาต่อการขอให้ได้มาซึ่งความมากหลายเว้นแต่อัลเลาะฮ์ทรงเพิ่มความลดน้อยด้วยการขอ   และไม่มีบ่าวคนใดได้มอบให้กับการให้ครั้งหนึ่งซึ่งเขาหวังในการให้ต่อพระพักตร์ของอัลเลาะฮ์เว้นเสียแต่อัลเลาะฮ์ได้ทรงเพิ่มพูนความมากมายแก่เขา”       

 

      ท่านอะห์นัฟ บินกอยซ์ถูกถามว่า 

    

مَا اْلاِنْسَا نِيَّةْ ؟                      ใครคือมนุษย์” 

 

ท่านตอบถึงสามลักษณะ หนึ่งในสามคือ

 

              اَلْعَفْوُعِنْدَ الْقُدْرَةِ .“ให้อภัยในขณะที่สามารถโต้ตอบได้”

                                                                                                                           

 ท่านพี่น้องที่รักครับ  ความโมโหหรือเกิดโทสะ และการโต้ตอบที่มิชอบตามหลักการอิสลามเป็นคุณลักษณะนิสัยของชัยฏอน แต่มิใช่กินความถึงการโกรธและการโต้ตอบเพื่ออัลเลาะห์ซึ่งอยู่ในหมวดของการสั่งใช้ความดีและห้ามปรามจากความชั่วที่จำเป็นต้องแสดงออกและเพื่อปกป้องศาสนาของอัลเลาะฮ์หากมิฉะนั้นแล้วความสามารถที่พระองค์อัลเลาะห์ทรงประทานเป็นเนี้ยะมัตให้เขาก็ไร้ซึ่งความหมายและไร้ซึ่งความขอบคุณในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

                  ท่านพี่น้องที่รักขออภัยครับที่ขอใช้คำว่า ให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจความหมายของคำว่า อดทนกับคำว่าหน้าด้านแล้วท่านจะได้ดำเนินงานและหน้าที่ของท่านอย่างมีประสิทธิภาพ

 

أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَاَسْتَغْفِرُاللهَ الْعَظِيْمَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ اِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ